จระเข้แม่น้ำไนล์5 tmence svgpon
จระเข้แม่น้ำไนล์ | |
---|---|
จระเข้แม่น้ำไนล์ | |
ภาพแสดงขนาดของจระเข้น้ำแม่น้ำไนล์ขนาดทั่วไป (สีเขียว) กับตัวที่มีขนาดใหญ่ (สีเทา) เปรียบเทียบกับมนุษย์ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
ความเสี่ยงต่ำ (IUCN 3.1)[1] | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ไม่ถูกจัดอันดับ: | Archosauria |
ชั้น: | Reptilia |
อันดับ: | Crocodylia |
วงศ์: | Crocodylidae |
สกุล: | Crocodylus |
สปีชีส์: | C. niloticus |
ชื่อทวินาม | |
Crocodylus niloticus Laurenti, 1768 | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ |
จระเข้แม่น้ำไนล์ (อังกฤษ: Nile crocodile; ชื่อวิทยาศาสตร์: Crocodylus niloticus[1]) เป็นจระเข้ชนิดหนึ่ง ที่มีขนาดใหญ่
จระเข้แม่น้ำไนล์ เป็นจระเข้ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองรองมาจากจระเข้น้ำเค็ม (C. porosus) ตัวผู้มีความยาวเฉลี่ย 3-5 เมตร แต่ตัวที่ยิ่งมีอายุมากจะยาวได้มากกว่านั้น ขณะที่ตัวเมียจะมีความยาวได้ตั้งแต่ 2.4-4 เมตร น้ำหนักตั้งแต่ 225-500 กิโลกรัม แต่ตัวผู้ที่ใหญ่อาจหนักได้ถึง 750 กิโลกรัม มีรายงานพบตัวที่ยาวที่สุดในแทนซาเนียมีความยาว 6.47 เมตร น้ำหนักประมาณ 1,090 กิโลกรัม[2]
จระเข้แม่น้ำไนล์ กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำและพื้นที่ชุ่มน้ำต่าง ๆ ที่เป็นน้ำจืดทั่วทวีปแอฟริกา แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำที่ตื้นและมีโคลนขุ่นก็ตาม มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมเป็นฝูงขนาดใหญ่ เป็นสัตว์ที่ล่าปลา รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่เป็นอาหาร เช่น ม้าลาย, กาเซลล์, แอนทิโลปต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สัตว์เหล่านี้อพยพข้ามแม่น้ำ จระเข้แม่น้ำไนล์จะมารอดักซุ่มและโจมตีโดยเฉพาะตัวที่เล็กและอ่อนแอกว่า หรือแม้แต่ซุ่มดักรอใต้น้ำจนกระทั่งสัตว์เหล่านี้มากินน้ำริมตลิ่ง ก็จะโผล่ตัวมางับลากลงไปกดเหยื่อให้จมน้ำตายก่อนแล้วค่อยกิน[3] รวมถึงมีพฤติกรรมกินพวกเดียวกันเองด้วย [4]
จระเข้แม่น้ำไนล์ สามารถซุ่มอยู่นิ่ง ๆ ใต้น้ำได้นานถึง 2 ชั่วโมงครึ่งก่อนจะขึ้นมาหายใจ ในตัวที่โตเต็มที่สามารถอดอาหารได้นานถึง 10 เดือนโดยไม่กินอะไรได้[3] และตัวเมียสามารถเก็บพักน้ำเชื้อจากการผสมพันธุ์ของตัวผู้ไว้ในตัวได้เป็นเวลาค่อนข้างนาน[5] ในธรรมชาติ จระเข้แม่น้ำไนล์มีถิ่นอาศัยถิ่นเดียวกับฮิปโปโปเตมัส ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่และมีอันตรายเช่นกัน แม้ทั้งสองชนิดอาจมีการปะทะกันบ้าง แต่โดยทั่วไปก็จะแบ่งพื้นที่อาศัยกันเป็นอย่างดี[3]
นอกจากนี้แล้ว จระเข้แม่น้ำไนล์ยังได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุดชนิดหนึ่งของทวีปแอฟริกา ทุกปีจะมีผู้ถูกจระเข้ทำร้ายและสังหารเสียชีวิตปีหนึ่งคิดเป็นจำนวนหลักร้อยหรืออาจจะถึงหลักพัน โดยชาวอียิปต์โบราณจะนับถือจระเข้แม่น้ำไนล์เป็นทูตของเทพเจ้า และมีการทำมัมมี่ให้แก่จระเข้ตัวที่ตายไปแล้วด้วย[6] โดยเศียรของโซเบก หรือเซเบก ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่เป็นผู้ให้กำเนิดแม่น้ำไนล์ ก็เป็นรูปจระเข้แม่น้ำไนล์ เชื่อกันว่าแม่น้ำไนล์กำเนิดมาจากเขาทั้งสองข้างของโซเบก[7] กระนั้นในปัจจุบัน จระเข้แม่น้ำไนล์ก็ยังถูกล่าเพื่อนำหนังไปใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ จนคาดว่าจำนวนที่เหลือในธรรมชาติน่าจะมีราว 250,000-500,000 ตัว[8]
กุสตาฟ ซึ่งเป็นจระเข้ที่ได้ชื่อว่าสังหารและกินมนุษย์ไปแล้วกว่า 300 คน มีขนาดความยาวกว่า 20 ฟุต อายุมากกว่า 60 ปี อาศัยอยู่ในตอนเหนือของบูรุนดีก็เป็นจระเข้แม่น้ำไนล์ด้วยเช่นกัน[9]
ปัจจุบัน จระเข้ที่พบในทวีปแอฟริกา ในอดีตที่เคยเชื่อกันว่ามีแค่ชนิดเดียว คือ จระเข้แม่น้ำไนล์ ได้ถูกศึกษาทางดีเอ็นเอแล้วพบว่ามี 2 ชนิด โดยชนิดที่ถูกแยกออกมานั้น คือ Crocodylus suchus ซึ่งเดิมเคยเป็นชนิดย่อยของจระเข้แม่น้ำไนล์ ซึ่งจระเข้ชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่า อีกทั้งยังมียังมีความแตกต่างกันทางสรีระภายนอก เช่น ลักษณะหัวกะโหลก หรือการเรียงตัวของเกล็ด เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีการกระจายพันธุ์ที่แตกต่างออกไปอีกด้วย กล่าว คือ จระเข้แม่น้ำไนล์มีถิ่นกระจายพันธุ์อยู่ทางด้านภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกามากกว่า ซึ่งจระเข้ชนิดใหม่นี้เป็นชนิดที่ชาวอียิปต์โบราณนิยมนำไปทำมัมมี่มากกว่า[5]
รูปภาพ[แก้]
ขณะอยู่ในน้ำที่ยูกันดา
ขณะโจมตีฝูงกนูที่แม่น้ำมารา
ไข่ของจระเข้แม่น้ำไนล์
skull
อ้างอิง[แก้]
- ↑ 1.0 1.1 Crocodile Specialist Group (1996). "Crocodylus niloticus". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.1. International Union for Conservation of Nature. สืบค้นเมื่อ 12 May 2006.
- ↑ Wood, The Guinness Book of Animal Facts and Feats. Sterling Pub Co Inc (1983), ISBN 978-0-85112-235-9
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Hippo; Croc, "Rouge Nature With Dave Salmoni" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พุธที่ 26 ธันวาคม 2555
- ↑ "วงจรชีวิตตามธรรมชาติสัตว์ใหญ่กินสัตว์เล็กจระเข้กินกันเอง". ช่อง 7. 7 January 2015. สืบค้นเมื่อ 10 January 2015.
- ↑ 5.0 5.1 Nile crocodile is two species
- ↑ ผจญภัยในทวีปแอฟริกา 1 โดย Kim Hyeon Min แปลโดย ภัฑราพร ฟูสกุล, 232 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 5 (นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์, 2551) ISBN 9789749601174
- ↑ ""ซีคอนสแควร์" ชวนไขความลับสัตว์แสนอัศจรรย์ ในงาน "Seacon Pet Planet : สัตว์ทะเลทรายกับตำนานเทพเจ้าอียิปต์". iurban. 26 February 2016.
- ↑ 13 สัตว์น้ำจืดที่น่ากลัวที่สุด
- ↑ ตำนาน"โคตรไอ้เคี่ยม" จากข่าวสด
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: Crocodylus niloticus |
แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]
- ข้อมูลเกี่ยวข้องกับ Crocodylus niloticus จากวิกิสปีชีส์
|